อัตลักษณ์ (Identity) คือ
อัตลักษณ์ (Identity) เป็นคุณสมบัติเฉพาะของบุคคลหรือวัตถุที่ทำให้คนนั้นหรือสิ่งนั้นโดดเด่นหรือแตกต่างจากสิ่งอื่น (Collins Dictionary, 1996) สำหรับอัตลักษณ์ของบุคคล คำนี้อาจหมายรวมถึงมิติ“ภายใน”ของความเป็นตัวเราทั้งในด้านอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และแนวคิดเกี่ยวกับตัวเองหรือการรู้จักตัวเอง (Self-concept) รวมทั้ง สำนึกถึง“ความเป็นปัจเจก” ที่บุคคลเชื่อมต่อและสัมพันธ์กับสังคม อัตลักษณ์จึงเป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่า “เราคือใคร” และ “เราจะดำเนินความสัมพันธ์กับคนอื่น ตลอดจนโลกภายนอกที่แวดล้อมตัวเราอย่างไร”
มาร์กซ์และเองเกลส์ชี้ว่า ภายใต้ระบบฟิวดัล เราได้ยินคำอย่างเช่น “เกียรติ” และ “ความจงรักภักดี” อยู่บ่อย ๆ แต่เมื่อถึงยุคทุนนิยม คำเช่น “เสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ก็เข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็วเพื่อทำให้ผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่มีอำนาจกลายเป็นค่านิยมร่วมของทุกกลุ่มในสังคม ชนชั้นปกครองจำเป็นต้องอธิบายโลกทัศน์ของตนในฐานะที่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้คนอื่นเชื่อว่าอุดมการณ์เหล่านี้เป็นทางเลือกสำคัญประการเดียวที่มีอยู่และเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลและถูกต้อง (แคทเธอลีน เบลซีย์, อภิญญา เฟื่องฟูสกุล-แปล, 2549 : 46-48)
แนวคิดดังกล่าว หลุยส์ อัลตูแซร์ (Louis Althusser) ศาสตราจารย์ทางปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสได้ขยายความโดยสนใจไปที่ “กลไกอุดมการณ์” อัลตูแซร์อธิบายว่า “อุดมการณ์คือระบบของภาพตัวแทนที่ทำหน้าที่กำหนดความสัมพันธ์ที่แท้จริงของเรากับของคนอื่นๆในสังคม ด้วยการประดิษฐ์สร้างความสัมพันธ์เชิงจินตนาการระหว่างผู้คนด้วยกันเองและระหว่างผู้คนกับสังคม ดังนั้น อุดมการณ์จึงเป็นการรับรู้ที่บิดเบือนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่แท้จริงทางสังคม” สำหรับอัลตูแซร์แล้ว เขามองว่าปรากฏการณ์ทางสังคมทั้งมวลนั้นถูกควบคุมโดยอุดมการณ์ผ่านกลไกการกดทับหรือควบคุม (the repressive state apparatus) เช่น ตำรวจ และกลไกเชิงอุดมการณ์ (the ideologic)
กลไกเชิงอุดมการณ์นี้อัลตูแซร์ยังอธิบายอีกว่า เมื่อเราเข้าสู่ระบบความสัมพันธ์ในโครงสร้างทางสังคม เราจะถูก “เรียกร้อง” (appellation) ให้เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ (ที่เรียกว่าอัตตบุคคล-subject) ตามโครงสร้างนั้นผ่านภาษา เช่น การบอกว่าเราเป็นคนไทย/คนจีน เป็นนายู/ซีแย เป็นเสื้อเหลือง-เสื้อแดง-สลิ่ม ฯลฯ หน้าที่ของอุดมการณ์ในระดับบุคคลคือการเรียกหรือติดฉลากให้บุคคล “กลายเป็น” เช่นนั้นเช่นนี้ โดยขึ้นต่อสถาบันทางสังคมที่อยู่เหนือเราขึ้นไป (ในที่นี้หมายถึงสถาบันทางสังคมที่กำหนดแบบแผนความคิดของเราหรือที่ครอบงำเราอยู่) เช่น สถาบันการศึกษา สถาบันวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถาบันชาติ สถาบันสื่อมวลชน วงการวรรณกรรม วงการศิลปะ ฯลฯ
ในสังคมจะมีการผลิตและผลิตซ้ำความหมายบางอย่างที่โน้มน้าวเราให้คิดว่าเราควรจะสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงรอบตัวเราอย่างไร และเมื่อเราถูกเรียกหรือติดฉลากให้เป็นเช่นนั้นแล้ว เราก็จะต้องคิดและแสดงบทบาทให้สอดคล้องกับฉลากนั้น
คำถามที่ท้าทายให้เราได้คิดคือ หากพิจารณาแนวคิดของอัลตูแซร์ สถาบันสื่อมวลชนมีอิทธิพลอย่างไรในการสร้างอัตลักษณ์ของเราและสังคมของเรา? สื่อมวลชนเรียกร้องให้ผู้คนสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มขึ้นมาได้อย่างไร? ในทางกลับกัน บุคคลได้ใช้สื่อมวลชนสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาอย่างไร? สื่อเลือกนำเสนออัตลักษณ์หรือภาพตัวแทนของแต่ละกลุ่มคนในสังคมอย่างไร?
บูร์ดิเยอได้เสนอแนวคิดเรื่องโครงสร้างในแบบที่ต่างออกไป ตรงที่ “โครงสร้างนั้นเป็นทั้งผู้กำหนดและผู้ถูกกำหนด” กล่าวคือ ในสังคมมีโครงสร้างที่กำหนดความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคล (habitus หรือที่ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุขใช้คำว่า “นิจภาพ”) ซึ่งเป็นผลิตผลของกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ของชีวิต ด้วยการปลูกฝังเรื่องต่าง ๆ เช่น เงื่อนไขทางสังคม กฎระเบียบ ความเชื่อ ค่านิยม ความรู้ ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ ให้ซึมซับไปในร่างกายและจิตใจของบุคคล โครงสร้างดังกล่าวกำหนดขอบเขตของการกระทำและสร้างชุดการรับรู้และประเมินคุณค่าที่สอดคล้องกับโครงสร้างนั้น แล้วแสดงออกในรูปของการปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่สม่ำเสมอ (ที่เรียกว่าการผลิตซ้ำ – reproduction) โครงสร้างจึงถูกประกอบสร้าง (constructed) ด้วยการปฏิบัติต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดมาก่อนด้วยนิจภาพ (habitus) และถูกกำหนดด้วยโครงสร้างที่อยู่ภายนอกอีกทีหนึ่ง (ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข, 2550 :74, 85-95)
inline : ดร พิสิฐ ตั้งพรประเสริฐ